Popular Posts

Sunday, April 28, 2013

เเนวโน้มการทำธุรกิจ SMEs


เเนวโน้มการทำธุรกิจ SMEs
 
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs
สถาบันอาหารเผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมด้านอาหารไทย มิ.ย. 55 ปรับตัวดีขึ้น ทว่า ผปก.ยังกังวลเรื่องต้นทุนพุ่ง ระบุร้อยละ 16.3 ปรับราคาสินค้าแล้ว ภาครัฐควรเอาจริงเรื่องพัฒนาลอจิสติกส์เพื่อช่วยลดต้นทุนภาคการขนส่งทั้งระบบ


สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center Thailand รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนมิถุนายน 2555 และแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย. 2555) จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางในสาขาต่างๆ พบว่าค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 55.5 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในทางที่ดีขึ้นต่อภาวะโดยรวมของธุรกิจ โดยระดับความเชื่อมั่นที่อยู่เหนือระดับ 50.0 ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณผลผลิต ปริมาณการจ้างงาน และผลประกอบการของภาคธุรกิจ ยกเว้นต้นทุนวัตถุดิบที่ภาคธุรกิจมองว่าแย่ลง คือมีค่าดัชนีอยู่ที่ 34.9 โดยมีผู้ประกอบการร้อยละ 59.3 เห็นว่าต้นทุนวัตถุดิบปรับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องประสบสภาวะเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปที่ซบเซาและชะลอตัว อีกทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยในกลุ่มสินค้าที่มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอยู่ระหว่างพิจารณาปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการร้อยละ 16.3 ได้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ว ส่วนอีกร้อยละ 80.2 ยังคงตรึงราคาสินค้าที่ระดับเดิม

ขณะที่แนวโน้มความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีค่าดัชนีโดยรวมอยู่ที่ 57.1 ซึ่งยังอยู่ในระดับดีขึ้นเช่นกัน ยกเว้นต้นทุนวัตถุดิบที่แย่ลง คือมีค่าดัชนีอยู่ที่ 36.9 และมีผู้ประกอบการร้อยละ 54.7 เห็นว่าต้นทุนวัตถุดิบจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้นในช่วงระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการร้อยละ 12.8 อาจปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง โดยอีกร้อยละ 83.7 คาดว่าจะยังตรึงราคาเดิมไว้
หากพิจารณารายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มข้าวและแป้งข้าวมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลง คืออยู่ที่ระดับ 44.7 เช่นเดียวกับแนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ความเชื่อมั่นมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 43.2 ซึ่งสะท้อนภาพความเชื่อมั่นที่แย่ลงในกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวไทย ทั้งในด้านยอดขาย ปริมาณผลผลิต ปริมาณการจ้างงาน และต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่ระดับราคาผลผลิตยังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อของกลุ่มลูกค้าต่างประเทศให้ลดลง และหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งแทน

ทั้งนี้จะพบว่าในเดือนมิถุนายน 2555 และแนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่มีข้อกังวลในด้านต้นทุนวัตถุดิบ โดยเชื่อมั่นว่าแย่ลง เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ ในกลุ่มข้าวและแป้งข้าวมีค่าอยู่ที่ระดับ 29.5 และ 38.6 กลุ่มสัตว์น้ำมีค่า 36.8 และ 38.2 กลุ่มเนื้อสัตว์มีค่า 36.4 และ 34.1 กลุ่มผักผลไม้มีค่า 33.3 และ 41.7 เนื่องจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความชื้นในการจัดเก็บและขนส่ง และต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วมซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้ผักผลไม้ที่ปลูกได้ เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องปรุงรส มีค่าดัชนี 35.4 และ 37.5 ซึ่งวัตถุดิบ เช่น พริก กระเทียม อาจเกิดความเสียหายจากปริมาณน้ำฝนและความชื้นได้

เมื่อจำแนกตามขนาดธุรกิจ ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมีค่าดัชนีอยู่เหนือระดับ 50.0 แสดงว่ามีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจดีขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้า และเมื่อจำแนกตามการส่งออก พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่เน้นตลาดในประเทศและต่างประเทศเป็นหลักมีค่าดัชนี 55.0 และ 55.8 แสดงว่ามีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจดีขึ้น โดยในอีก 3 เดือนข้างหน้าค่าดัชนีความเชื่อมั่นสูงขึ้นเป็น 56.1 และ 57.8 ตามลำดับ สะท้อนความเชื่อมั่นว่าภาวะอุตสาหกรรมอาหารจะดีขึ้นด้วย

ในเดือนมิถุนายน 2555 พบว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน เป็นข้อจำกัดอันดับ 1 ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 88.4 รองลงมาคือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ร้อยละ 80.2 และอันดับ 3 คืออัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 54.7 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบในการดำเนินธุรกิจให้มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องปรับราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นว่ายังคงเป็น 3 อันดับแรกในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐว่าควรทำการศึกษาระบบต้นทุนภาคการขนส่งของไทย และกำหนดแนวทางเพื่อลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ รวมทั้งควรจัดฝึกอบรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบลอจิสติกส์ เพื่อพัฒนาให้ทันความต้องการของลูกค้า

No comments:

Post a Comment